Review Tokina AF 12-24 mm F4 DX


TOKINA AF 12-24 MM F/4 DX &

TOKINA AF 100 MM F/2.8 MACRO

เลนส์โปรซีรี่ย์ใหม่

Tokina คือ ผู้ผลิตเลนส์อิสระเก่าแก่รายหนึ่งของโลก และเป็นหนึ่งในสามยักษ์ใหญ่ของวงการเลนส์อิสระ ที่ยังคงยืนหยัดอยู่ในวงการที่มีการแข่งขันกันสูงนี้ได้ แม้จะมีบางช่วงที่เงียบเหงาและโอนเอนไปบ้างตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่โตคิน่าก็ยังไม่หายไปเลยเหมือนกับหลายๆรายในอดีต ยังคงมีการวิจัย พัฒนา และเปิดตัวเลนส์ใหม่ๆมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ในช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก ทั้งๆที่คุณภาพไม่ได้เป็นรองแต่อย่างใด เหตุใหญ่เป็นเพราะเรื่องของการออกแบบภายนอกของเลนส์นั่นเอง

ผม เองในสมัยเริ่มหัดเริ่มเรียนถ่ายภาพใหม่ๆ เลนส์ที่เก็บเงินซื้อเองตัวแรกในชีวิตก็เป็นเลนส์แมนนวลโฟกัสรุ่นยอดนิยมของ โตคิน่า ซึ่งผมเองก็พอใจในคุณภาพของมันอยู่พอควรและใช้มันมาหลายปีจนกระทั่งเชื้อรา และฝ้ามาเยือนจนเกินเยียวยา แต่ทุกครั้งที่หยิบมาใช้งานมักมีคนถามเสมอ ว่าทำไมมันใหญ่และหน้าตาดูไม่สวยเอาเสียเลย

ซึ่ง แต่ไหนแต่ไรมา โตคิน่ามักจะถูกค่อนขอดเสมอว่าออกแบบภายนอกได้ทื่อมาก ดูโบราณและหาความสวยงามได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางหุ้มวงแหวนซูมลายเฉียงนั้น ทั้งแข็งและคมมาก ซึ่งอาทำให้เจ็บนิ้วเอาได้ง่ายๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหมือนกับโตคิน่าจะรู้สึกตัวว่าจะขายแต่เฉพาะคุณภาพของแมคคานิคส์ และเน้นราคาต่ำไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องปฏิวัติการออกแบบรูปลักษณ์การออกแบบภายนอกเสียใหม่ เพื่อให้ดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ และสามารถสู้กับเลนส์ของค่ายอื่นๆได้

และหลังจากซบเซาไปพักใหญ่ โตคิน่าก็กลับมาพร้อมกับเลนส์ใหม่ 2 รุ่น ซึ่งเป็นเลนส์ซีรี่ย์ใหม่ที่ใช้กับกล้อง DSLR โดยเฉพาะหนึ่งรุ่นและที่ใช้ได้ทั้งกล้องฟิล์มและ DSLR อีก หนึ่งรุ่น ซึ่งเป็นเลนส์ที่น่าสนใจและได้รับการสอบถามเข้ามามาก เพราะโตคิน่าออกแบบใหม่รูปลักษณ์ใหม่ ลบจุดด้อยที่เคยมีละคงจุดแข็งเอาไว้ ซึ่งเชื่อว่าแนวทางการผลิตเลนส์ในรุ่นถัดๆไป จะเป็นในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ผมจึงได้ขอยืมเลนส์ทั้ง 2 รุ่นจากตัวแทนมาทดสอบในฉบับนี้ครับ

TOKINA AF12-24 mm f/4DX

(AT-X 124 PRO DX)

ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของผู้ใช้กล้อง DSLR ที่ใช้เซนเซอร์ขนาด APS ก็ คือเรื่องมุมกว้างของเลนส์ที่ต้องเสียไปกับขนาดเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่าฟิล์ม จากที่เคยใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสขนาด 17 มม. ก็จะกลายเป็น 25.5 มม. ไปในทันที (กับกล้องที่มีตัวคูณทางยาวโฟกัส 1.5) ความกว้างจากองศารับภาพและเปอร์สเปคทีฟที่เคมีเคยใช้ก็หายไป จึงนับเป็นความหงุดหงิดอย่างมากสำหรับคนชอบถ่ายภาพมุมกว้าง ครั้งจะหันไปหาเลนส์ที่กว้างกวานี้ที่ไม่ใช่เลนส์ฟิชอาย ราคาก็จะสูงมากจนแทบจับไม่ได้ หนทางแก้ไขที่ลงตัวที่สุดก็คือผลิตเลนส์ซีรี่ย์ใหม่ โดยเฉพาะเลนส์ซูมมุมกว้างซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดค่อนข้างมาก แต่เลนส์ซูมมุมกว้างเหล่านี้ของบรรดาผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพเอง ราคายังค่อนข้างสูงอยู่ไม่น้อย เลนส์ของผู้ผลิตอิสระจึงก้าวเข้ามาในความคิดของหลายๆคน

หลัง จากปล่อยให้คู่แข่งระดับเดียวกันอย่างซิกม่าและแทมรอนทำตลาดเลนส์ในกลุ่มนี้ ล่วงหน้าไปก่อนด้วยช่วงซูม 10-20 มม. และ11-18 มม. โตคิน่าจึงส่งเลนส์ 12-24 มม. มาร่วมวงด้วย ซึ่งหากเปรียบเทียบช่วงซูมต้นของเลนส์ จะเห็นว่าเลนส์โตคิน่านั้นเสียเปรียบ แต่สิ่งที่โตคิน่านำมาชดเชยให้คือความสว่างของเลนส์คงที่ และโครงสร้างที่แข็งแรงกว่า

การออกแบบ : เลนส์ รุ่นนี้ออกแบบมาได้สวยไม่น้อยเลยครับ ดูดีและประณีตสมกับเป็นเลนส์เกรดโปรจริงๆ ตัวเลนส์มีขนาดกำลังดี ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป จับได้เต็มมือ โตคิน่าแยกวงแหวนซูมและวงแหวนโฟกัสออกจากกัน วงแหวนโฟกัสอยู่ทางด้านหน้า มีความกว้าง 23 มม. หุ้มด้วยยางลายเส้นนูนเซาะร่องรอบวง 3 แนว กว้าง 19 มม. ซึ่งเป็นยางลายเดิมที่โตคิน่าใช้อยู่แล้ว เพียงแต่ทำให้ความลึกของร่องน้อยลงกว่าเดิม ให้ความรู้สึกในการจับดีขึ้น ไม่เจ็บนิ้ว การปรับเปลี่ยนระบบโฟกัสจากออโตโฟกัสเป็นแมนนวลแบบ One Touch Focus Clutch Mechanism ซึ่ง เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของโตคิน่า โดยใช้การผลัก-ดึงวงแหวนโฟกัสเข้าออกเท่านั้น ตำแหน่งด้านหน้าเป็นระบบออโตโฟกัส เมื่อดึงเข้าหาตัวก็จะเข้าสู่ระบบแมนนวลโฟกัสทันทีไม่จำเป็นต้องไปปรับที่ ตัวกล้อง จะดึงเข้าออกที่ตำแหน่งไหนก็ได้ จึงใช้งานสะดวกมาก การปรับโฟกัสจากอินฟินิตี้ไประยะใกล้สุดเป็นแบบตามเข็มนาฬิกามีรอบหมุน 90 องศา โตคิน่าตั้งน้ำหนักการหมุนของวงแหวนมาดีมาก ไม่หนืดและไม่ลื่นเกินไป ระบบโฟกัสเป็นแบบภายใน(Internal Focus : IF) โดยการเคลื่อนชิ้นเลนส์ชิ้นที่ 5 และ 6 จากทางด้านหน้า ความยาวของเลนส์จึงไม่เพิ่ม

วง แหวนซูมวางไว้ทางด้านท้ายเลนส์ ตัววงแวนซูมกว้าง 22 มม. หุ้มด้วยยางลายใหม่เป็นแบบลายนูนเส้นตรงธรรมดากว้าง 14 มม. การซูมจากช่วง 12 มม. ไป 24 มม. เป็นแบบหมุนตามเข็มนาฬิกา บนวงแหวนสกรีนตัวเลขสีขาวแสดงทางยาวโฟกัสไว้ 5 ค่า คือ 12, 15, 18, 20 และ 24 มม. เป็นตัวหนังสือแบบเดิมที่โตคิน่าใช้มานานแล้วครับ น้ำหนักหมุนหนักกว่าวงแหวนโฟกัสพอสมควร แต่ยังสามารถปรับได้ดี ราบเรียบนุ่มนวลไม่มีสะดุด การซูมไม่ได้เป็นแบบภายนะครับ เป็นการเคลื่อนชุดเลนส์ทั้งชุด เพียงแต่โตคิน่าทำกระบอกออกมาครอบชุดเลนส์ไว้ทั้งหมด ความยาวของเลนส์จึงคงที่ตลอด

ส่วน กลางของกระบอกเลนส์เป็นช่องหน้าต่างเล็กๆ ครอบด้วยพลาสติกใสที่ใช้แสดงระยะโฟกัส โดยใช้สีเหลืองเพื่อแสดงค่าฟุตและสีขาวสำหรับค่าเมตร รอบๆหน้าต่างนี้โตคิน่าปั๊มนูนตัวอักษรสีทอง บอกทางยาวโฟกัสและซีรี่ย์ของเลนส์บ่งบอกว่าเป็นเลนส์โปร

โครง สร้างชิ้นเลนส์ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 13 ชิ้นแบ่งเป็น 11 กลุ่ม ใช้ชิ้นเลนส์พิเศษ 5 ชิ้นด้วยกัน คือใช้ชิ้นเลนส์แอสเฟอริคัล 2 ชิ้น ตรงชิ้นที่ 2 จากด้านหน้า และชิ้นที่ 3 จากด้านท้ายเพื่อลดความคลาดทรงกลม ชิ้นเลนส์พิเศษรหัส FK03 ตรงชิ้นที่ 2 จากท้ายและชิ้นเลนส์แบบ High- refraction, Low dispersion อีก 2 ชิ้นเพื่อลดความคลาดสี นอกจากนี้ยังใช้ระบบการโค้ทผิวเลนส์ใหม่แบบ Multi-layer coating อีก ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อให้เลนส์สามารถถ่ายทอดรายละเอียดความคมชัด และลดความคลาดต่างๆได้อย่างยอดเยี่ยม ส่วนโครงสร้างหลักของกระบอกเป็นโลหะ ความแข็งแรงจึงหายห่วง

เลนส์รุ่นนี้จำหน่ายพร้อมฮูดทรงกลีบดอกไม้ขนาดใหญ่ บุด้านในด้วยผ้ากำมะหยี่เพื่อไม่ให้มีแสงสะท้อน ใช้ประโยชน์ได้พอควร

TOKINA AF 100 mm. f/2.8 Macro

(AT-X M100 PRO D)

เลนส์ มาโครจัดว่าเป็นเลนส์พิเศษที่ค่อนข้างเป็นที่ต้องการของช่างภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่เพิ่งจะเริ่มต้นถ่ายภาพใหม่ๆ เพราะขนาดของภาพที่ถ่ายนั้นดูแล้วเร้าใจ น่าสนใจ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยหากเลนส์มาโครจะเป็นเลนส์ตัวที่ 3 ที่ช่างภาพส่วนใหญ่หาซื้อกันต่อจากเลนส์นอร์มอลซูมกับเลนส์เทเลซูม นอกจากนี้เลนส์มาโครยังสามารถใช้เป็นเลนส์พอร์เทรดได้ดีอีกด้วย จึงอเนกประสงค็กว่าเลนส์พอร์เทรดแท้ๆ

โตคิน่าเคยผลิตเลนส์มาโครทางยาวโฟกัส 100 มม. f/2.8 ออก จำหน่ายอยู่ช่วงหนึ่งแต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเพราะอัตราขยายสูงสุดทำ ได้แค่ 12 เท่านั้น ประกอบกับรูปร่างหน้าตาที่ดูไม่สวยเท่าไหร่ จึงทำให้พบเห็นเลนส์รุ่นนี้ในตลาดน้อยมาก แต่เลนส์มาโครรุ่นใหม่นี้ จะเรียกว่าเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงก็ว่าได้ ทั้งดีไซน์และคุณภาพ

การออกแบบ : โต คิน่าสลัดรูปแบบการดีไซน์เก่าๆออกหมด จัดการเปลี่ยนเลนส์มาโครรุ่นใหม่นี้ให้ดูสวยกว่าเดิมมาก ด้วยการใช้ผิวแบบพ่นทรายลายหยาบซึ่งเป็นผิวแบบเดียวกับที่ใช้กับเลนส์ตระกูล โปรของโตค่า คาดเส้นสีทองด้านบนเพื่อบ่งบอกว่าเป็นเลนส์ในตระกูล Gold Ring Pro Series ซึ่ง เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นเลนส์เกรดโปร นอกจากนี้ยังปั๊มนูนตัวอักษรสีทองบนแผ่นป้ายสีดำล้อมรอบสเกลโฟกัส แสดงทางยาวโฟกัสและรหัสรุ่นไว้บริเวณส่วนกลางของตัวเลนส์ ดูสวยงามพอควร และเยื้องไปทางซ้ายจะเป็นสวิทช์หมุนล็อกช่วงโฟกัส ที่ใช้เลือกได้ทั้ง FULL และ LIMIT ไว้ จะโฟกัสได้ตั้งแต่ช่วงประมาณ 0.39 เมตรจนถึงอินฟินิตี้

กระบอก เลนส์เป็นทรงท่อตรงขนาดไม่ใหญ่นัก จึงจับถือได้ถนัด ส่วนหน้าของเลนส์เป็นวงแหวนโฟกัสที่มีความกว้าง 34 มม. โดยเป็นส่วนที่หุ้มยางกว้าง 23 มม. ยางที่ใช้เป็นยางลายเดียวกับเลนส์ 12-24 มม. คือเป็นเส้นนูนเซาะร่องรอบวง แต่เซาะเป็น 4 ร่องดูคล้ายยางของนิคอนมาก ยางลายนี้เกาะนิ้วดีใช้ได้ครับ ทำให้การปรับโฟกัสในแบบแมนนวลทำได้สะดวก ระบบโฟกัสของเลนส์รุ่นนี้เป็นการเคลื่อนชุดเลนส์ชุดหน้าออกไปทั้งชุดแต่ เลนส์ชิ้นท้ายไม่เคลื่อน การเปลี่ยนระบบโฟกัสเป็นแบบ One Touch Focus Clutch Mechanism ที่ ทำการเปลี่ยนระบบโฟกัสด้วยการดึงวงแหวนโฟกัสเข้าออกเท่านั้น เป็นระบบที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วมาก การปรับโฟกัสจากอินฟินิตี้ไปที่ระยะใกล้สุดเป็นแบบทวนเข็มนาฬิกามีรอบหมุน ประมาณ 225 องศา เมื่อปรับโฟกัสใกล้สุดที่ระยะ 0.3 เมตร เลนสะยืดออกมาอีกถึง 59 มม. เลยทีเดียว และให้อัตราขยายสูงสุดที่ 1: 1 ตามมาตรฐานของเลนส์มาโครแท้ๆสมัยใหม่

ทาง ด้านท้ายเลนส์ โตคิน่าหุ้มยางลายใหม่ที่เป็นเส้นนูนห่างๆอีกหนึ่งเส้น เพื่อให้เกาะนิ้วเมื่อเวลาหยิบจับเปลี่ยนเลนส์ และหากเป็นเลนส์เมาท์นิคอนที่บริเวณใกล้กับแปลนเมาท์จะมีวงแหวนปรับรูรับแสง ให้ด้วยครับ

เลนส์ ชิ้นท้ายของ 100 มม.ตัวนี้มีขนาดใหญ่พอตัวเลยครับ คือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราวๆ 32 มม. ส่วนชิ้นเลนส์ด้านหน้ามีขนาดใกล้เคียงกัน แต่อยู่ลึกเข้าไปด้านในราว 34 มม.

โครง สร้างภายนอกเป็นพลาสติกครับ แต่งานการผลิตที่ดีของโตคิน่าทำให้มองดูเหมือนเป็นงานโลหะมาก แต่วงแหวนโฟกัสและกระบอกเลนส์ที่ยืดออกมา รวมทั้งชุดแคมภายในเป็นโลหะครับ จึงทำให้โครงสร้างโดยรวมให้ความรู้สึกที่แข็งแรงมาก โครงสร้างชิ้นเลนส์ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 9 ชิ้นแบ่งเป็น 8 กลุ่ม และไม่มีการใช้ชิ้นเลนส์พิเศษใดๆ แต่โตคิน่าเคลมว่าด้วยระบบโค้ทผิวเลนส์ใหม่แบบมัลติเลเยอร์ จะช่วยให้เลนส์มีกำลังการแยกขยายสูง และมีการสะท้อนกลับของแสงน้อย จึงทำให้สามารถถ่ายทอดรายละเอียด สีสันและคอนทราสต์ได้ดีแม้จะใช้กับกล้องดิจิตอลก็ตาม เพราะระบบโค้ทผิวเลนส์ใหม่นี้ มีความเหมาะสมกับเบสของซิลิคอนที่ใช้ผลิตเซนเซอร์ภาพ

เลนส์ รุ่นนี้จำหน่ายพร้อมฮูดทรงถ้วย ที่มีความยาวของตัวฮูด 56 มม. และบุด้านในด้วยกำมะหยี่เพื่อไม่ให้มีแสงสะท้อน ใส่เข้ากับเลนส์แล้วดูสวยใช้ได้เลยครับ

ผลการใช้งาน AT-X 124 PRO DX : ด้วย ขนาดและรูปร่างที่ลงตัว ประกอบกับน้ำหนักของเลนส์ที่ไม่มากนัก ทำให้การจับถือทำดี น้ำหนักการปรับหมุนทั้งวงแหวนโฟกัสและวงแหวนซูมอยู่ในระดับดีมากไม่หนืดและ ไม่ลื่นเกินไป ยางลายนี้ของวงแหวนโฟกัสที่ตื้นกวายางของเลนส์รุ่นเก่า และปาดขอบคมๆออกไป เกาะนิ้วได้ดีไม่เจ็บนิ้วอีกต่อไป เช่นเดียวกับยางหุ้มวงแหวนซูมที่เปลี่ยนเป็นลายใหม่

ระบบโฟกัส : ความ เร็วของระบบออโตโฟกัสจัดอยู่ในขั้นดีเลยครับ สามารถจะแทรคเข้าหาจุดโฟกัสได้เร็วและล็อคอยู่ในทันที ตอบสนองการออกตัวได้เร็วแม้จะมีเสียงของการโฟกัสบ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อย ภาพในช่องมองดูนิ่งจนกระทั่งล็อกโฟกัสได้ แสดงให้เห็นว่าชุดเกลียวโฟกัสผลิตได้ดี ถึงจะเป็นรองของผู้ผลิตกล้องอยู่บ้างเพราะไม่มีมอเตอร์ในตัว แต่ด้วยลักษณะการใช้งานซึ่งไม่ได้ต้องการความรวดเร็วนักและมีช่วงหมุนที่ไม่ มาก จึงถือได้ว่ามีความได้เปรียบกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนระบบแมนนวลโฟกัสบอกได้แค่ว่ายอดเยี่ยมครับ โตคิน่าตั้งน้ำหนักการหมุนโฟกัสมาราวกับว่ามันเป็นเลนส์แมนนวลชั้นดี ดีกว่าเลนส์ของผู้ผลิตกล้องหลายๆตัวเสียอีก ระยะโฟกัสใกล้จุด 0.3 เมตร ทำให้ใช้งานได้มากทีเดียว การเปลี่ยนระบบโฟกัสแบบดึงวงแหวนเข้าออกนั้นทำได้รวดเร็ว และใช้งานได้สะดวกโดยไม่ต้องละสายตามามองเลย ดีมากครับ

ความคมชัด : เลนส์รุ่นนี้ให้ความคมชัดที่ดีมากตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะใช้ที่ช่วงซูมใด เมื่อรูรับแสงกว้างสุดที่ f/4 ความคมชัดที่กลางภาพนั้นดีมาก และอยู่ในระดับดีที่ขอบภาพ เมื่อหรี่รูรับแสงลงเป็น f /5.6 จนถึง f/11 ความคมชัดของภาพจะดีขึ้นแบบสังเกตได้ โดยเฉพาะบริเวณขอบภาพนั้นขึ้นมาอยู่ในระดับดีมาก ส่วนที่กลางภาพจะดีขึ้นอีก แต่สังเกตยากสักหน่อย และเมื่อเปิดตั้งแต่ f/16 จนถึง f/22 ความคมชัดจะดรอปลงเข้าสู่ระดับเดียวกับที่ f/4 ครับ

สีสนและคอนทราสต์ : เมื่อเซทค่าพารามิเตอร์ของกล้องแคนนอน EOS 20D ไว้ ที่นอร์มอล พบว่าภาพที่ถ่ายออกมาแทบทั้งหมดมีความอิ่มตัวของสีดีมาก สูงกว่าซับเจ็คท์อยู่เล็กน้อย ในขณะที่คอนทราสจัดว่าค่อนข้างสูง ทำให้ภาพโดยรวมดูสดใสไม่ติดเหลืองเหมือนรุ่นก่อนๆ

ดิสทอร์ชั่น : ถึง แม้จะเป็นเลนส์มุมกว้างมาก แต่พบว่าอาการบิดเบี้ยวของภาพหรือดิสทอร์ชั่นมีน้อยมากจนแทบไม่เห็น เส้นขอบของเสาท้องพระโรงพระราชวังสนามจันทร์ที่ถ่ายมาก ยังคงเป็นเส้นตรงให้เห็นอยู่ แม้จะดูลู่แต่ก็เป็นเพราะเปอร์สเปคทีฟของเลนส์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเลนส์มุมกว้างอยู่แล้ว จัดว่าแก้ดิสทรอชั่นมาดีมาก

วิกเน็ทท์ : จาก การถ่ายภาพท้องฟ้าโล่งพบว่ามีอาการขอบภาพมืดบ้างเล็กน้อยบริเวณมุมของภาพ ทั้ง 4 มุม เมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุดกับทุกช่วงทางยาวโฟกัส เมื่อหรี่รูรับแสง f/5.6 แทบไม่ปรากฏอาการขอบภาพมืดให้เห็นอีก และภาพจะใสเคลียร์เต็มที่เมื่อเปิดที่ f/8 แต่หากใช้ถ่ายภาพทั่วๆไป อาการขอบภาพมืดที่ f/4 ไม่เป็นผลเสียกับภาพแต่อย่างใด

แฟลร์ : โตคิน่าเคลมว่าเลนส์รุ่นนี้ใช้ระบบโค้ทผิวเลนส์แบบหลายชั้น (Multi Layer Coating) ระบบ ใหม่ที่สามารถลดแสงสะท้อนภายในได้ดี รวมทั้งช่วยลดแสงแฟลร์ที่อาจเกิดขึ้นกับการถ่ายภาพย้อนแสง ซึ่งจากการถ่ายภาพย้อนแสงแบบตรงๆพบว่าเกิดแสงแฟลร์อยู่บ้าง แต่นับว่าน้อยกว่ามาตรฐานอยู่พอควร และหากมีสิ่งใดบังแหล่งกำเนิดแสงไว้ก็แทบจะไม่พบแสงแฟลร์เลย ส่วนการวางตำแหน่งของแหล่งกำเนิดแสงไว้บริเวณมุมภาพจะพบแสงแฟลร์เป็นเส้น ทแยงมุม แต่จัดว่าน้อยมากเช่นกัน และหากวางไว้ขอบภาพจะปรากฏแสงฟุ้งบ้าง ซึ่งทำให้สีสันดรอปลงพอควร แต่ไม่ปรากฏแสงแฟลร์แต่อย่างใด โดยรวมแล้วเลนส์รุ่นนี้จัดการเรื่องแสงแฟลร์ได้ดีตามที่โคตรริน่าเคลมไว้

ความคิดเห็นกับเลนส์ AT-X 124 PRO DX : ทั้ง ขนาด รูปทรง น้ำหนัก การออกแบบภายนอกที่รวมไปถึงการเปลี่ยนยางหุ้มวงแหวนซูมใหม่ ทำให้เลนส์รุ่นนี้ดูดี รู้สึกได้ถึงความแข็งแรงของโครงสร้าง ส่วนคุณภาพของภาพนั้นถือว่าทำได้ดีมากๆ หากไม่ซีเรียสกับช่วงซูมต้นที่น้อยกว่าค่ายอื่น กับสนนราคาไม่ถึงสองหมื่นบาท นี่จัดเป็นเลนส์มุมกว้างสำหรับกล้อง DSLR ที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C ที่คุ้มค่ามากรุ่นหนึ่งครับ

ผลการใช้งาน AT-X M100 PRO D : เลนส์รุ่นนี้สามารถใช้ได้กับกล้องฟิล์มและกล้องดิจิตอล ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับกล้องแคนนอน (x1.6) ทางยาวโฟกัสจะเพิ่มขึ้น 160 มม. f/2.8 Macro และเมื่อใช้ร่วมกับกล้องนิคิน(x1.5) จะกลายเป็นเลนส์ 150 มม. f/2.8 Macro ซึ่งนอกจากจะใช้ถ่ายมาโครได้ดีแล้ว ยังใช้ถ่ายภาพพอร์ตเทรดได้ดีมากด้วย

ระบบโฟกัส : เลนส์ มาโครเป็นเลนส์ทีมีระบบแมคคานิคส์ที่ค่อนข้างหนัก เพื่อให้มีเสถียรภาพและความนุ่มนวลราบเรียบขณะโฟกัสสูง ดังนั้นความเร็วของระบบออโต้โฟกัสจึงไม่สูงนัก แต่อย่างไรก็ดี การล็อกช่วงโฟกัสของเลนส์ตามระยะที่ใช้ จะทำให้สามารถโฟกัสได้รวดเร็วขึ้น การออกตัวและล็อกที่ซับเจคท์สามารถทำได้ฉับไวในระดับที่น่าพอใจ ส่วนระบบแมนนวลโฟกัส เป็นสิ่งที่ขึ้นชื่ออยู่แล้วสำหรับโตคิน่า วงแหวนโฟกัสที่มีขนาดกำลังเหมาะมือ และความหนืดของวงแหวนที่ตั้งมาดีมาก ทำให้การโฟกัสทำได้ราบเรียบและนุ่มนวลมาก จุดนี้ยอดเยี่ยมครับ

ความคมชัด : ที่ระยะมาโครอัตราขยาย 12 และ 1: 1 นั้น ให้ความคมชัดดีมากโดยเฉพาะที่กลางภาพหรือจุดที่โฟกัสไว้ จัดอยู่ในขั้นคงกริบเลยทีเดียว แต่ต้องระวังมากสักหน่อยโดยเฉพาะจุดโฟกัส เพราะอัตราขยายสูงเช่นนี้ ความชัดลึกของภาพมีน้อยมากอาจหลุดตำแหน่งโฟกัสได้โดยง่าย หากถ่ายที่ระยะทั่วไป ความคมชัดยังทำได้ดีมากทั้งที่กลางภาพและขอบภาพแม้ว่าจะเปิดรูรับแสงกว้าง สุดก็ตาม หากหรี่รูรับแสงลงเป็น f/5.6 จนถึง f/16 จะสามารถรีดคุณภาพออกมาได้ดีที่สุด

สีสันและคอนทราสต์ : สีสัน ที่ได้จากเลนส์รุ่นนี้ อิ่มแน่นและจัดจ้านกว่าซับเจ็คท์จริงอยู่นิดหน่อยแบบพอสังเกตได้ ซึ่งเป็นผลดีกับภาพมาโคร และเมื่อถ่ายภาพพอร์เทรตกับแสงช่วงกลางวันและกับแฟลชสตูดิโอ ผิวของแบบจะอมชมพูเล็กน้อย ซึ่งไม่เป็นผลเสียแต่อย่างใด คอนทราสต์ไม่สูงมากนักแต่ยังให้ภาพโดยรวมที่สดใสดี ดสบายตาและไม่ขึ้นขอบ

อื่นๆ: เรื่องดิสทอร์ชั่นและวิกเน็ทท์นั้นแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นเลยครับ โดยเฉพาะวิกเน๊ทท์นั้นหากจะใช้กับกล้อง DSLR แล้ว หล่ะก็ ลืมไปได้เลยครับ เพราะขนาดของอิมเมจเซอร์เคิลใหญ่กว่าขนาดของเซ็นเซอร์ จึงเหมือนกับการครอปเอาเฉพาะส่วนกลางมาใช้เท่านั้น และถึงแม้จะใช้กับกล้องฟิล์ม วิกเนทท์ก็ยังมีน้อยครับ ส่วนเรื่องแฟลร์นั้นกับการใช้งานทั่วไปแม้จะวางตำแหน่งดวงอาทิตย์หรือแหล่ง กำเนิดแสงอื่นไว้ในเฟรมภาพ หากแสงไม่แรงหรือโดนไม่จังจริงๆโอกาสเกิดแฟลร์น้อยมากครับ

ความคิดเห็นกับเลนส์ AT-X M100 PRO D : จาก ที่มีโอกาสได้ใช้งานพอสมควรต้องบอกว่าชอบมากครับทั้งเรื่องคุณภาพและงานการ ผลิต เพราะความคมชัดดีมาก สีสันสดใสอิ่มตัวสูง ใช้งานสะดวก ปรับเปลี่ยนระบบโฟกัสได้เร็ว แมนนวลโฟกัสยอดเยี่ยม ราบเรียบนุ่มนวล และยังสามารถใช้ได้ทั้งกล้องฟิล์มและกล้อง DSLR เหมาะ กับผู้ที่ใช้กล้องทั้งสองระบบ กับราคาหมื่นกลางๆนับว่าคุ้มค่ามากๆ เมื่อคิดว่าแลกมาได้ซึ่งเลนส์ที่มีระบบแมคคานิคส์ดีระบบออฟติคเยี่ยมสัก ตัว... แนะนำครับ